Mar 19, 2005

ความรู้ธรรมดาอันเป็นฐานชีวิต เริ่มที่บ้าน

-.............

มองจากบ้าน มองจากแม่
"ความรู้ธรรมดาอันเป็นฐานชีวิต..เริ่มที่บ้าน"
โดย : แม่ส้ม - สมพร (พึ่งอุดม)
เขียนให้กับโครงการวิจัยการศึกษาไทยทางเลือกในอนาคต
๒๒ มีนาคม ๒๕๔๕
...............

๑. ท้องอย่างมีสติ

ผู้เขียนเขียนบทความนี้ในฐานะแม่ เมีย เพื่อน และครู ตำแหน่งทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ เป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครตั้งให้ เลือกเป็นหรือเลือกไม่เป็นก็ไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการมีครอบครัว และเป็นไปเองตามธรรมชาติ“แม่” เป็นตำแหน่งที่ลูกเรียก“เมีย” เป็นตำแหน่งที่ผัวเรียก“เพื่อน” เป็นตำแหน่งที่ทั้งลูกและผัวต้องการ“ครู” เป็นตำแหน่งที่เราทุกคนในบ้านต่างผลัดกันเป็น

คิดย้อนหลังไปยี่สิบกว่าปี ช่วงเวลาของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย จำได้ว่าวิชาที่เคยเรียนมาทั้งหมด ล้วนเป็นวิชาที่สอนทักษะทางวิชาชีพ คะแนนระดับเกียรตินิยมเป็นเครื่องยืนยันความมั่นคงได้ว่า อย่างไรเสียเมื่อรับปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้ไปแล้ว ไม่มีวันอดตายแน่ ไม่มีวันตกงานแน่ มีแต่ตลาดจ้องจะชิงตัวเรานั่นไม่ว่า

ตอนนั้นคิดว่า เรานี้แน่จริง ๆ ที่มารู้ว่าเราไม่ได้แน่จริง และปริญญาบัตรไม่ช่วยอะไรเลย ก็เมื่อเริ่มมีความรักและตัดสินใจว่าจะเป็นเมียใครสักคน ที่ว่าเรียนเก่ง ๆ กลับกลายเป็นเงอะงะงุ่มง่าม จะวางตัวอย่างไรก็ทำไม่ถูก ครูก็ไม่ยักสอน พ่อแม่ก็ไม่เคยสอน ตำราที่หาอ่านได้ก็เล่าไม่หมด ยิ่งตอนแพ้ท้อง เคยดูในหนัง นางเอกแพ้ท้องต้องโอ้กอ้าก แต่เราก็ไม่เห็นจะคลื่นไส้อยากอาเจียน มีแต่อาการโลกหมุนไม่ยอมหยุด ลุกไปไหนก็เดินเซไปเหมือนคนเมา เป็นความเมาที่แฝงสุข เป็นปีติอ่อน ๆ ของคนจะเป็นแม่

ท้องที่โตขึ้นทุกวัน สอนให้รู้ว่า ทุกวันคือวันใหม่ วันนี้ไม่เคยเหมือนเมื่อวาน และพรุ่งนี้ท้องก็จะใหญ่ขึ้นอีกนิดหนึ่งเสมอ ความรู้ที่เข้ามาในแต่ละวัน คือความรู้ตาม “สัญชาตญาณ” แท้ ๆ แม้หนังสือว่าด้วยการเตรียมตัวเป็นแม่จะกองเต็มบ้าน แต่ที่สุดของสิ่งอัศจรรย์ใจ ไม่ได้มาจากการอ่านประสบการณ์ของผู้หญิงท้องคนอื่น ๆ หรืออ่านความรู้ของหมอ การมีเด็กอยู่ในท้องเรา เป็นมหัศจรรย์ของชีวิต เป็นมหัศจรรย์ของผู้หญิง และเป็นมหัศจรรย์ของครอบครัว 

ลูกในท้องเขาสื่อสารกับเรา เราก็รู้ เขาสะกิดเรา เราก็รู้ เขารักเรา เรารักเขา เรารู้กัน นี่ไม่ได้พูดเกินเลยหรือเกินจริง ลูกในท้องสอนเรา และเราก็สอนลูก การเรียนรู้และการเป็นครูของกันและกัน เริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังไม่ออกมาดูโลกแล้ว ลูกสอนเราตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแม่ ลูกสอนให้เรามีสติ จะลุกนั่งยืนเดินก็มีสติ ท้องโย้อุ้ยอ้ายเวลาเดินแต่ละก้าว เหมือนกำลังเจริญกายานุปัสสนา ซ้ายก้าวหนอ ขวาก้าวหนอ หายใจเข้ายาว รู้ หายใจออกยาว รู้ จะทำอะไรพรึบพรับรวดเร็วใจร้อนอย่างเคยก็ไม่คล่อง ถ้ารีบเร่งเกินไปนักลูกก็เตะเตือนทีหนึ่ง นับเป็นการเกื้อกูลช่วยกันระหว่างแม่ลูกจริง ๆ ลูกได้นอนสบายเพราะแม่ค่อย ๆ เคลื่อนไหว แม่ได้ฝึกสมาธิเพราะลูกช่วยเตือน 

จะหงุดหงิดโมโหใครก็ต้องมีสติ เพราะคนเขาถือ ร้านค้าไหนถูกคนท้องต่อรองราคา เขาถือว่าจะขายไม่ดีตลอดวันนั้น คนท้องคือตัวพาโชค ทั้งโชคดีและโชคร้าย ถ้าคนท้องพอใจจะถือว่านำโชคดีมาสู่ ถ้าคนท้องต่อราคาหรือตำหนิติติงถือว่าจะนำโชคร้าย จะทำให้ค้าขายไม่ดี 

ความเชื่อเช่นนี้ก็แปลกดี แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าคตินี้น่ารักและมีนัยน่าสนใจ ถ้าพิจารณาลงไปจะเห็นความเกื้อกูลอาทรกันในขนบสังคมอันนี้อยู่มาก คนท้องเป็นบุคคลสำคัญของชุมชน หญิงท้องกำลังผลิตคนให้สังคม สังคมต้องทนุถนอมดูแลคนท้อง สังคมต้องให้อาหารการกินแก่คนท้อง เพื่อบำรุงเด็กในท้องให้ออกมาแข็งแรงเป็นกำลังของสังคมต่อไป สังคมจึงต้องเอื้อเฟื้อคนท้อง 

เมื่อสมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก ถูกสอนว่าเวลาขึ้นรถเมล์หรือไปที่ไหน ถ้าเห็นคนท้องต้องลุกขึ้นยกที่นั่งของเราให้คนท้องนั่ง เมื่อถึงคราวเราตั้งท้องลูกคนแรก เวลาขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพ ก็ยังมีเด็กนักเรียนลุกให้นั่งบ่อย ๆ แต่ที่ตลกทว่าขำได้ยาก คือ คนที่ลุกให้นั่งมักเป็นเด็กนักเรียนและเป็นผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ คนหนุ่มร่างกายกำยำเห็นเราเข้ารีบเบือนหน้าออกนอกหน้าต่างทันที ไม่ก็ทำทองไม่รู้ร้อน เราก็ไม่ได้คาดหวังหรือโกรธเขาหรอก คิดขำคนเดียวว่า ผู้ชายเหล่านี้คงคิดในใจว่า พวกผู้หญิงสมัยใหม่อยากได้สิทธิสตรีเสมอภาคชายหญิงกันดีนัก ยืนท้องโย้เสียให้เข็ด 

เรื่องอาหารก็อีกเรื่อง ที่เคยชอบกินโน่นชอบกินนี่ ก็กลับกลายเป็นเหม็นเบื่อไม่อยากกิน เป็นไปได้ที่ร่างกายของเราบอกเราเอง และเป็นไปได้อีกที่ลูกในท้องบอกเราด้วย คนท้องแต่ละคนจะเหม็นเบื่ออาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ที่เรียกว่าอาการแพ้ท้อง ความจริงเป็นอาการที่ร่างกายของคนจะเป็นแม่กำลังส่งสารและสื่อสารบางอย่างให้รู้ บางคนแพ้ท้องอยากกินอาหารแปลก ๆ นั่นก็เป็นเพราะร่างกายส่งสัญญาณบอกว่าแม่กำลังขาดสารอาหารบางอย่าง และสารอาหารนี้มีอยู่ในอาหารที่แม่แพ้อยากกิน บางคนแพ้ท้องคลื่นไส้อยากอาเจียนทั้งวัน ลุกทำงานไม่ไหว นี่ก็เป็นคำเตือนมาว่า แม่ควรได้พักผ่อนเอนหลังนอนมาก ๆ หน่อย
..............

๒. แพ้ท้องอย่าแพ้ใจ

ส่วนใหญ่อาการแพ้ท้องคลื่นไส้จะเป็นในช่วงท้องอ่อน ๆ สามสี่เดือนแรก หลังจากนั้นร่างกายแม่จะแข็งแรงขึ้น ในช่วงที่ลูกยังเป็นตัวอ่อนเดือนแรก ๆ แม่ที่ร่างกายไม่แข็งแรงย่อมจะมีสัญญาณเตือนจากทั้งร่างกายตัวเองและจากลูกในท้องให้ต้องพักผ่อนมาก ๆ 

แต่แม่บางคนแทนที่จะได้พักผ่อน กลับลุกอาเจียนแทบทั้งวันจนหมดเรี่ยวแรง ซ้ำยังกินอะไรไม่ลง ต้องพึ่งพายาแก้แพ้จากหมอ ผู้เขียนในฐานะแม่ที่มีประสบการณ์แพ้ท้องมาแล้ว ๓ ครั้ง ไม่เห็นด้วยกับการด่วนกินยาแก้แพ้ เดี๋ยวนี้แม่สมัยใหม่ที่ไม่อยากเผชิญทุกข์จากอาการแพ้ จะได้รับยาแก้แพ้มากินป้องกันไว้ หรือบางทีเพียงมีอาการแพ้นิดหน่อยก็กินยาแก้แพ้ท้องเสียแล้ว 

ความสะดวกสบายที่การแพทย์สมัยใหม่ให้กับแม่สมัยนี้ นับเป็นความหวังดี เป็นเจตนาของวิทยาศาสตร์ ทั้งทางด้านการค้นคว้าตัวยา การค้นคว้าหาสมมติฐานของอาการแพ้ท้อง ค้นหาความสมดุลของฮอร์โมน หาความสมดุลของธาตุอาหารที่แม่และลูกในท้องควรได้รับ เป็นเจตนาดีที่ต้องการให้คนท้องอยู่สุขสบาย และคลอดลูกได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก 

เจตนาอันเป็นกุศลในทางการแพทย์ เราควรน้อมรับและขอบคุณ แต่ “เจตนาตามธรรมชาติ” เราก็ไม่ควรละเลยละทิ้ง อาการแพ้ท้องเป็นสัญญาณเตือนบางอย่าง เหมือนอาการไข้ทางกายอื่น ๆ ร่างกายกำลังสื่อสารบอกเรา หากแม่รีบกินยาเข้าไปเสียก่อนที่จะได้สำเหนียกและพิจารณาข้อมูลที่ร่างกายพยายามสื่อบอกเรา ยาที่กินเข้าไปจะไปกดข้อมูลนั้น แม่อาจจะรู้สึกสบายขึ้นจากอาการแพ้ท้องหรืออาการไข้ ตราบที่ยานั้นยังออกฤทธิ์กดอาการไว้ 

ยาพวกนี้ไม่ใช่ยารักษา แต่เป็นยากดอาการไว้ชั่วคราว อาการแพ้ท้องไม่ใช่อาการป่วย แต่เป็นอาการที่ร่างกายกำลังปรับตัวบางอย่าง มันเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องที่แม่ที่กำลังตั้งท้องทุกคนน่าจะฉกฉวยเอาเป็น “โอกาสแห่งการเรียนรู้” เรียนรู้ที่จะหาข้อมูลความรู้ทางกายภาพให้รอบด้าน เรียนรู้พิจารณาอาการและภาวะที่กำลังเผชิญทั้งทางกาย ทางจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก เป็นความรู้สด ๆ ความรู้ตรงจากประสบการณ์ เป็นการเจริญสติ และที่สำคัญเป็นความรู้ที่แม่ควรต้องมี เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของตนสู่ลูกสาวหรือลูกสะใภ้ของตัวในอนาคต การสืบทอดความรู้แบบนี้มีมาแต่โบราณ เป็นการศึกษาที่งดงาม จากรุ่นต่อรุ่น 

แต่นับวันสังคมสมัยใหม่ละเลยความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ไป เพราะโลกกิจกรรมต่าง ๆ เคลื่อนไปรวดเร็วและสะดวกสบายขึ้นมาก ยิ่งสบายขึ้นมากเท่าไร “ความอดทนอดกลั้น” ก็น้อยลงเท่านั้น สมัยนี้การแพ้ท้องเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่ต้องอดทนอีกแล้ว เช่นเดียวกับความทุกข์อื่น ๆ เมื่ออาการแพ้ท้องไม่ต้องทน กระบวนการคลอดตามธรรมชาติก็ไม่ต้องทน เดี๋ยวนี้การผ่าตัดคลอดช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องผ่านความทุกข์ยากเจ็บปวดของกระบวนการเกิดตามธรรมชาติแล้ว 

พฤติกรรมนิยมกินยาวิทยาศาสตร์เป็นพฤติกรรมร่วมที่เกิดขึ้นและกระจายตัวรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นไปตามเป้าประสงค์ของบริษัทผลิตยาทั้งในและต่างประเทศ ผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อทดลองยาแก้แพ้ของบริษัทยามาไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ตัวอย่างเช่น ยาแก้แพ้ท้อง ที่ชื่อ ธาลิโดไมด์ ทำให้เด็กเกิดมาแขนขากุด กว่าจะรู้ว่าพิษภัยของยาแก้แพ้นี้อันตรายเพียงใด ก็ต่อเมื่อมีการใช้ยาไปมากแล้ว 

พูดง่าย ๆ คือ ต้องใช้ผู้หญิงและเด็กเป็น ๆ เป็นตัวทดลองสักระยะหนึ่งก่อน จึงจะรู้ว่าผลข้างเคียงของยานั้นเป็นอย่างไร ต้องมีเด็กเกิดมาแขนขากุดไปแล้วจำนวนมากจึงจะมีการสั่งห้าม ทั้งก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีพ่อแม่ หรือคนที่เกิดมาแขนขากุดเนื่องจากยาแก้แพ้ตัวนี้ไปร้องเรียนเอากับใครได้ นี่ยังไม่นับยาอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อลูก ซึ่งแม่อาจกินเข้าไปในช่วงตั้งครรภ์ด้วยความไม่รู้ ที่ว่าไม่รู้นี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ ๓ ประเด็น 

๑. ที่ไม่รู้ เพราะตลอดช่วงวัยเรียนของเด็กผู้หญิง ไม่มีเนื้อหาวิชาที่สอนการเตรียมตัวเป็นแม่อย่างลึกซึ้ง ที่มีอยู่ก็ฉาบฉวยลวก ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เด็กผู้หญิงได้เรียนวิชาการเพื่อเตรียมตัวสู่การประกอบอาชีพ แต่วิชาว่าด้วยการครองเรือน ว่าด้วยการเป็นเมียและเป็นแม่ ต้องไปเรียนรู้เองแบบคลำเอา คลำถูกคลำผิดไปตามยถากรรม 

๒. ที่ไม่รู้ เพราะวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้ในครอบครัวสมัยใหม่เปลี่ยนไปมาก ความรู้ของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มักถูกลูกหลานมองว่าไม่ทันสมัย รู้ไม่จริง อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เกิดความรู้สึกดูถูกความรู้ของพ่อแม่ตัวเองเห็นเป็นเรื่องล้าหลัง งมงาย โดยไม่แม้แต่จะหยิบมาวิเคราะห์ ไตร่ตรองหาเหตุเค้าความเป็นไปได้ แล้วเลือกสังเคราะห์ต่อ เรียกว่าสะบัดหน้าให้แล้วหันไปพึ่งหลักทฤษฎีจากความรู้ที่แปลมาจากตะวันตกเบ็ดเสร็จ 

วัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้ภายในครอบครัวได้ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง นับจากระบบการศึกษาที่บังคับให้พ่อแม่ทุกบ้านต้องส่งลูกเข้าไปให้รัฐอบรมสั่งสอน นี่มองอย่างง่าย ๆ ยังไม่ต้องคิดซับซ้อนถึงผลประโยชน์ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่รัฐคาดหวังจากลูกชาวบ้าน มองปราดเดียว ก็พอจะมองเห็นว่า ระบบเช่นนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกดูถูกดูแคลนประชาชน ดูถูกพ่อแม่ทั่วประเทศว่าไร้ศักยภาพที่จะสอนความรู้ให้ลูกของตนได้ จึงต้องออกกฏหมายการศึกษาภาคบังคับออกมา ยังไม่ต้องพูดว่ารัฐขโมยลูกชาวบ้าน
การศึกษาภาคบังคับขโมยแรงงานไปจากชุมชน และการศึกษาสมัยใหม่ขโมยคุณค่าความเป็นมนุษย์ไปอย่างหน้าซื่อ คุณค่าพื้นฐานที่ลูกหลานควรนับถือความรู้ของบรรพชนได้ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ถ้ามนุษย์ไม่เห็นคุณค่าในบรรพชนของตนแล้ว นับประสาอะไรจะสามารถรู้ว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วจะถ่ายทอดระบบคุณค่าสู่ลูกหลานต่อไปได้อย่างไร 

๓. ที่ไม่รู้ เพราะระบบความรู้ในสังคมปัจจุบัน เป็นระบบความรู้ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมีเบื้องหลัง การศึกษาไทยที่ผ่านมา ไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมและเข้มแข็งพอที่จะรู้เท่าทันความซับซ้อนของความรู้สมัยใหม่ ตัวอย่างของแม่ตั้งท้อง ทุกวันนี้เรามีบริการความรู้ผ่านสื่อมากมาย ความรู้ในการดูแลตัวเองและบริบาลทารก หากการศึกษาที่แม่ได้รับมามีฐานไม่เข้มแข็งพอ “เข้มแข็ง” ไม่ได้แปลว่าเรียนมาก เรียนสูง แต่ฐานที่เข้มแข็งในที่นี้ คือ “ปัญญาญาณ” ปัญญาที่มีวิจารณญาณ ถ้าไม่มี“วิจารณญาณ”พอ ก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลมากมายในโลกทุกวันนี้ อะไรจริงใจ อะไรแอบแฝง 

ตัวอย่างเช่น ความรู้ที่บอกให้แม่ต้องกินแคลเซี่ยมเพิ่มขึ้นปริมาณเท่านั้นเท่านี้จากผลิตภัณฑ์นั้นผลิตภัณฑ์นี้ ถ้าไม่กินแม่จะกระดูกพรุนในอนาคตนะ หรือข้อมูลที่บอกแม่ว่า เด็กควรได้รับนมวันละเท่านั้นเท่านี้ ถ้าได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ที่เขาบอก ลูกจะตัวเล็กนะ ไม่ฉลาดนะ ทำให้แม่ลูกอ่อนที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รู้สึกสับสนและเสียกำลังใจ หลายรายต้องยอมแพ้ เพราะนมที่ลูกดูดจากเต้านั้น ไม่สามารถคำนวณเป็นออนซ์เป็นขวดไม่ได้ แม่เลยไม่รู้ว่าลูกได้รับสารอาหารครบตามมาตรฐานหรือเปล่า รายที่เห็นลูกไม่โตทันใจสักทีก็ต้องเปลี่ยนไปกินนมวัวใส่ขวดแทน 

ที่แปลกพิศดารจนแทบไม่น่าเชื่ออีกเรื่อง บางคนถึงกับฉีดยาหยุดน้ำนมเพราะไม่ต้องการให้นมลูก ยาหยุดน้ำนมนี้เมื่อสมัยผู้เขียนตั้งท้องลูกคนที่สอง ก็ได้รับคำถามก่อนคลอดว่า ต้องการให้นมลูกเองไหม ถ้าไม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะฉีดยาให้ น้ำนมจะไม่ไหล เต้านมก็จะไม่คัดไม่เจ็บปวด ผู้เขียนรู้สึกสะท้อนใจเมื่อได้ยิน ได้บอกไปว่า “คนก็ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมคนสิ” ผู้เขียนต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะลูกคนโตก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอดจนขวบกว่า เขาก็หยุดนมแม่ไปเอง มาลูกคนที่สองและที่สาม ก็เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองจนลูกเขาพอใจและหย่านมไปเอง 

ตัวอย่างความรู้จริงผสมความรู้ลวงเช่นนี้ เป็นเรื่องท้าทายระบบการศึกษาของสังคมมาก ความรู้ที่สลับซับซ้อนเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเราสมควรจะพูดกันอย่างหนักในวงการคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางเลือกของไทยในอนาคต อะไรเป็น “ความรู้” อะไรเป็น “ข้อมูล” อะไรเป็น”กาก” อะไรเป็น”พิษ”
 
ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นเป็นข้อมูลข่าวสารก็นับเข้าเป็นความรู้เสียหมด หากผู้ใหญ่เองยังย่อยแยกความรู้ในโลกซับซ้อนนี้ไม่ได้ จะสอนลูกหลานให้ “เท่าทันโลก” ได้อย่างไร “เท่าทันโลก” ไม่ใช่ “ตามโลกให้ทัน” คำฟังคล้าย ๆ กัน แต่ความหมายต่างกันมาก 

การศึกษาไทยวันนี้เร่งเด็กให้ตามโลกให้ทัน ก้าวให้ทันโลก แต่เรื่องรู้เท่าทัน บางทียังเป็นเรื่องที่ถูกปิดกั้นเสียด้วยซ้ำ หากนโยบายของชาติต้องการให้ “ก้าวทันโลก” การ”รู้เท่าทันโลก” และ “รู้เท่าทันตัวเอง” ก็อาจจะกลายเป็นสิ่งขัดขวางนโยบายนี้ได้ เช่นเดียวกับการรู้เท่าทันร่างกายว่าเป็นหวัด เป็นไข้ แพ้ท้อง ไม่ต้องกินยาเดี๋ยวก็หายเอง เช่นนี้ บริษัทผลิตยาแก้หวัดยาลดไข้ ยาแก้แพ้ก็ไม่ชอบ พวกเขาต้องคิดยุทธวิธีสกัดกั้นการรู้เท่าทันของประชาชนอย่างแยบยลซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับต่อไป 

กลับมาที่คำถามว่า ลูกในท้องสอนอะไรแม่ สำหรับตัวผู้เขียนเอง สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเป็นความรู้ที่ได้จากการตั้งท้องลูก และพูดได้เต็มปากว่าเป็นความรู้ที่ลูกในท้องสอนเรา ในเรื่องยาแก้แพ้ ผู้เขียนไม่เคยกินยาแก้แพ้ ไม่ใช่เพราะอวดเก่งหรือรู้มาก แต่เพราะรู้ว่ามันอาจเป็นอันตรายและไม่จำเป็น ความรักลูกทำให้เราเรียนรู้ที่จะอดทนต่ออาการแพ้ท้อง เป็นความอดทนเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำไมเราจะเสียสละไม่ได้ 

ความอดทนและการเสียสละขณะตั้งท้อง เป็นแบบฝึกหัดบทแรกที่แม่ทุกคนควรได้เรียนและได้ปฏิบัติจริง ธรรมชาติเตรียมแบบฝึกหัดให้เรามาดีแล้ว แต่วิทยาการสมัยใหม่กำลังเข้าไปก้าวก่ายแบบฝึกหัดนั้นมากเกินไป หากผู้หญิงท้องไม่ได้เรียนรู้ที่จะอดทนและเสียสละตั้งแต่ในช่วงตั้งท้อง เพราะวิทยาการก้าวหน้าอำนวยความสบายให้ เมื่อไม่เคยประสบทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ อดทนเล็ก ๆ น้อย ๆ และเสียสละความสุขส่วนตัวง่าย ๆ ในช่วงตั้งท้องเสียแล้ว ต่อไปแม่จะมีความอดทน อดกลั้น และเสียสละเพียงพอและพร้อมไหม ที่จะเผชิญภาระอันยิ่งใหญ่ของการเลี้ยงลูกหลังคลอดต่อไป
............


๓. นมแม่ไม่ใช่แค่อาหาร


ผู้เขียนคลอดลูกชายคนโตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ถ้าใครยังจำได้ ปีนั้นมีเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียตรัสเซีย(ปัจจุบันคือประเทศยูเครน) การเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัสเซียระเบิดตอนนั้น ทำให้คนทั้งโลกอกสั่นขวัญแขวนกับสารกัมมันตรังสีซึ่งรั่วไหลออกมาแล้วถูกพัดพาไปตามกระแสลม 


ตอนนั้นอาหารและนมผงสำหรับเลี้ยงเด็กที่นำเข้ามาจากทางแถบประเทศยุโรปถูกระบุว่ามีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน พวกแม่ ๆ ที่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง ก็หันไปพึ่งนมผงจากทางนิวซีแลนด์แทน ส่วนนมผงเลี้ยงเด็กเจ้าปัญหาที่ถูกตรวจและระบุว่ามีสารปนเปื้อนเหล่านั้นมีการเก็บลงจากชั้นและแผงขายจริง ไม่ถูกซื้อไปเลี้ยงเด็กในรูปลักษณ์ของนมผงสำหรับเลี้ยงเด็กจริง แต่ถึงอย่างไรนมเหล่านี้ก็ถูกแปรกลับมาในรูปอื่น เช่น ไอศรีม หรือขนมต่าง ๆ 

นมปนเปื้อนเหล่านั้นยังไงเสียก็ย้อนกลับมาหาเด็กอยู่ดี แม้ว่าข่าวเช่นนี้จะเป็นข่าวเปิดเผยรู้กันทั่วไป แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นได้ ความอ่อนแอของทั้งรัฐและผู้บริโภค เป็นตัวสะท้อนระบบการให้การศึกษาของไทยเป็นอย่างดี นิสัยนั่งนิ่ง ๆ คอยรับฟังความรู้ที่ครูป้อนให้ อยากเถียงก็ไม่กล้าเถียง อึดอัดก็ไม่กล้าพูด รู้ว่าความรู้ที่ได้รับมานั้นไม่อร่อยก็ไม่กล้าบอก รู้ว่าสิ่งที่ได้รับเป็นพิษก็ไม่กล้าปกป้องตัวเอง บทเรียนเช่นนี้วนเวียนซ้ำมาจนถึงยุคอาหารจีเอ็มโอ พ่อแม่ได้แต่ทำตาปริบ ๆ รอให้กาลเวลาช่วยปรับให้ทุกเรื่องกลายเป็น “ความเคยชิน”
 
การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนั้น ทำให้ผู้เขียนมีเจตนารมย์อันแรงกล้าที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าเดิมก็ตั้งใจไว้อยู่แล้ว แต่ช่วงตั้งท้องบางครั้งก็ถูกทำให้ไขว้เขวไปด้วยข้อมูลนานาที่มาในรูปของความรู้แอบแฝง เช่น บางตำราก็บอกว่า ถ้าแม่ให้นมลูกในช่วงลาคลอด จะทำให้ลูกติดแม่ แม่ติดลูก หากครบกำหนดลาต้องกลับไปทำงานจะเกิดภาวะยากลำบากทั้งแม่ทั้งลูก เช่นนี้แล้ว สมควรจะให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมผงชงใส่ขวดเสียแต่แรก 

บางข้อมูลก็บอกว่า หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เต้านมจะหย่อนคล้อยกว่าหญิงที่ไม่ได้ให้นมลูกเอง เพราะน้ำนมที่ผลิตขึ้นในแต่ละมื้อจะทำให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติมาก เหมือนลูกโป่งอัดลมอย่างไรอย่างนั้น เมื่อขยายใหญ่ขึ้นมาแล้ว พอถึงคราวลูกหย่านม เนื้อหนังก็จะแตกเป็นลายและหย่อนคล้อยเหมือนลูกโป่งถูกปล่อยลมออก แม่ที่อยากสวยอยากงามควรเลี้ยงลูกด้วยนมผงดีกว่า ข้อมูลที่เล่นกับความสวยงามของผู้หญิงเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องตลกเล็ก ๆ เด็กอดกินนมแม่มามากต่อมากแล้ว เรื่องตลกนี้ ทำให้ยอดขายและยอดนำเข้าของบริษัทนมสูงขึ้นทุกปี 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากทฤษฎีการเลี้ยงลูกให้มีวินัยตั้งแต่ยังเป็นทารก ต้องกินนมตามเวลา กินนมตามปริมาณที่ระบุตัวเลขแน่นอน ต้องนอนเป็นเวลา ต้องทำที่นอนแยกต่างหากจากแม่ ฝึกวินัยเสียตั้งแต่ทารก โตขึ้นจะได้เป็นพลเมืองที่มีระเบียบวินัยเข้มงวดต่อไป ความเชื่อแนวนี้เข้มข้นมากอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงที่ผู้เขียนคลอดลูกคนแรก แนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกให้ขึ้นกับตารางทั้งหลาย ทั้งตารางเวลา และตารางโภชนาการก็เข้มข้นมาก การเลี้ยงลูกให้ถูกต้องตามตารางเวลา และปริมาณตัวเลข เป็นเรื่องที่แม่ซึ่งเลี้ยงนมแม่ทำได้ยาก เพราะเราไม่รู้ว่าลูกดูดนมไปกี่ออนซ์ ที่ดูดมาครึ่งชั่วโมงนั้น ดูดได้นมหรือดูดเพลิน

ความขัดแย้งอีกเรื่องที่ถกเถียงกันมาก คือ “เท่าไรจึงพอ” “เท่าไรจึงเหมาะสม” แม่ควรให้ลูกดูดนมแม่นานคราวละกี่นาที และควรจะให้ลูกดูดนมแม่ไปจนลูกอายุเท่าไหร่ แม่สมัยก่อนไม่มีความกังวลนี้ ลูกอยากดูดนานแค่ไหนก็ดูดไป ถ้าลูกมันเขี้ยวขบหัวนมแม่เข้าให้ แม่ก็บีบจมูกลูกทีหนึ่ง หรือใช้นิ้วชี้แยงเข้ามุมปากง้างขากรรไกรลูกให้แยกออก ลูกเขาก็เรียนรู้ว่าถ้ากัดแม่ทุกครั้ง แม่จะทำอย่างนี้ เด็กเขาได้บทเรียนแปลกใหม่จากแม่ทุกวัน เขาก็จะไม่กัดแม่อีก 


แม่สมัยก่อนไม่กังวลเรื่องโภชนาการ ลูกอยากดูดนมแม่เมื่อไรก็มา อยากดูดนานเท่าไหนก็ดูดไป บางบ้านจนลูกโตสองสามขวบยังวิ่งมาขอดูดนมแม่อยู่ก็ถมไป แต่สมัยใหม่มีการสอนกันว่า นมแม่หลังครึ่งขวบแรกไปแล้ว คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงมาก สารอาหารที่เด็กได้รับจากนมแม่ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จำเป็นต้องได้รับนมวัวผงซึ่งมีสารอาหารคงที่เสริม เด็กจึงกินนมขวดต่อจากนมแม่กันทั้งบ้านทั้งเมืองและกินต่อเนื่องไปจนโต ทำให้อุตสาหกรรมผลิตนมผงจากนมวัวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ใหญ่ยิ่งของโลกอย่างถาวร 

ปัญหาของแม่สมัยนี้ที่กังขาสงสัย และสับสนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเกิดจากความเข้าใจหรือถูกทำให้เข้าใจว่า “นมแม่เป็นเพียงแค่อาหาร” ความเข้าใจว่านมแม่เป็นเพียงแค่อาหารยังชีพลูก เป็นบทสะท้อนความเข้าใจและทัศนคติอื่น ๆ ของแม่รุ่นใหม่ด้วย เช่น ถ้าแม่เป็นเพียงแค่คนป้อนอาหาร ดูแลความสะอาดร่างกายลูก ระวังไม่ให้ลูกเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหน้าที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ก็ได้ ใครก็ได้ จ้างพี่เลี้ยงมาทำก็ได้ “เหมือน ๆ กัน” แนวคิดเรื่อง “ทำแทนกันได้” และ “เหมือน ๆ กัน” นี้เป็นทัศนคติที่ก่อขึ้นมาพร้อมกับระบบสังคมบริโภคนิยม และระบบการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งสองระบบนี้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย 

ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากเฉพาะเรื่องนมแม่เรื่องเดียวก่อน สถานการณ์ความเชื่อและทัศนคติเกี่ยวกับนมแม่ที่เพี้ยนไปจากธรรมชาติ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างมาก เพราะถ้าแม่ไม่เข้าใจธรรมชาติของการเลี้ยงลูก หลงผิดไปตามกระแสการเลี้ยงลูกแบบกระแสหลัก ตามกระแสที่ผู้ผลิตชักจูงไป แม่จะมาเข้าใจการจัดการศึกษาที่ถูกต้องให้ลูกได้อย่างไร 

การให้ความรู้เรื่องการศึกษาต้องให้กันตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องแล้ว ต้องไม่เอาคำว่า “การศึกษา” ไปผูกกับอายุตามเกณฑ์ที่รัฐบอกให้เข้าโรงเรียน ลูกอายุ ๓ ขวบ ๔ ขวบเสียก่อนค่อยมาสนใจว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ลูก การศึกษาที่แท้จริงคือการศึกษาตลอดชีวิต และต้องรู้จัก ”เลือก” ศึกษา เลือกในที่นี้ก็ไม่ได้แปลว่า เลือกอย่างเลือกสินค้าในตลาด แต่หมายถึง การเลือกอย่างรู้ตัว อย่างรู้เท่าทัน อย่างมีสติ อย่างมีวิจารณญาณ ตรวจสอบ พิจารณา ใคร่ครวญ ทุกก้าวย่างของชีวิต
..............

๔. ปฐมสิกขา

ขณะที่แม่ให้นมลูก แม่ไม่ได้แค่เพียงป้อนอาหารยังชีพให้ลูกอิ่ม ให้ลูกโตไปวัน ๆ แต่ช่วงขณะของการให้นมลูก เป็นช่วงเวลาสำคัญของการให้การศึกษาแก่ลูก เป็นเวลาทองของการเรียนรู้ช่วงหนึ่งของชีวิตมนุษย์ทีเดียว แต่ทำไมนักการศึกษาสมัยใหม่ไม่พูดถึง ไม่หยิบฉวยเวลาทองตรงนี้ไว้

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเราไปผูกคำว่า “การศึกษา” ไว้กับ โรงเรียน สมุด หนังสือ ชุดนักเรียน ครู กระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน การพูด การฟัง การเขียน การอ่าน การสอบ คะแนน การแข่งขัน และจบการศึกษาที่ประกาศนียบัตรซึ่งยังชีพได้หรือไม่ก็ยังไม่แน่ 

การศึกษาที่ผูกกับโรงเรียนเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ระบบสังคมสมัยใหม่พยายามทำให้ทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องต้อง “พึ่งพา” พึ่งพาการจัดการจากคนอื่น พึ่งพาการจัดการภายนอก เพื่อให้องค์ประกอบรอบชีวิตทุกเรื่องต้องใช้ “เงิน” เป็นตัวกลางหมด แม้ไม่ซื้อโดยตรงก็ผ่านไปทาง “ภาษี” ตัวเองแทบจะลงไม้ลงมืออะไรเองไม่ได้เลย ด้วยกระบวนทัศน์เช่นนี้ ทำให้เด็กทารกมากมายพลาดโอกาสแห่ง “ปฐมสิกขา” ในอ้อมอกอุ่นและน้ำนมแม่ 

เด็กไม่ได้ต้องการนมแม่เพียงสัปดาห์แรก หรือเดือนแรก หรือสามเดือนแรกตามข้อมูลทางโภชนาการที่บอกว่านมแม่มีคุณค่าทางอาหารแค่ในช่วงนั้น การเลี้ยงลูกไม่ใช่เพียงการให้ลูกได้รับโปรตีน แคลเซี่ยม วิตามิน คาร์โบไฮเดรท ครบตามเกณฑ์กราฟ 

เวลาของเด็กไม่เหมือนเวลาของผู้ใหญ่ ๑ ขวบปีของเด็กไม่ได้มีเพียง ๓๖๕ วันซึ่งผ่านไปตามปฏิทิน เวลาทุกนาทีของเด็กมีค่า เวลาเป็นมิติมหัศจรรย์ซึ่งเราเอามาตรนาฬิกาหรือปฏิทินไปจับไปวัดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ละช่วงเวลามีประตูมิติที่มองไม่เห็นเปิดรอเด็ก ๆ อยู่ เป็นประตูมิติสู่การเรียนรู้ ประตูมิติสู่การปรับเปลี่ยน เป็นประตูแห่งการเติบโต เจริญงอกงามอย่างรอบด้านของชีวิต

ประตูมิติเหล่านี้ไม่สามารถนั่งจ้องหรือเอานาฬิกาไปจับ แต่เรารู้สึกได้ดังที่เราเห็นเด็ก ๆ ช่างเติบโตรวดเร็ว จากทารกตัวแดง ๆ ประเดี๋ยวก็คลาน ประเดี๋ยวก็วิ่ง ประเดี๋ยวก็พูดเจื้อยแจ้วแล้ว ผู้ใหญ่ส่วนมากมักเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กเพียงทางกายภาพ จึงทุ่มเทความสำคัญไปที่คุณภาพทางกาย ขนาดของร่างกาย อาหาร ความสะอาด และความปลอดภัย แต่ลืมไปว่ามีคุณภาพที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่เบื้องหลังประตูมิติที่ว่านี้ด้วย ที่ยังพอเห็นได้ง่ายหน่อย คือคุณภาพทางจิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา แต่ที่มองเห็นได้ยากขึ้นไปอีก คือคุณภาพทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นฐานรากของคุณภาพกายและอารมณ์ในระยะยาว ตลอดชีวิต ทั้งชีวิตนี้และชีวิตหน้า 

แม่สมัยนี้ส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่ต้องทำการทำงาน บางคนลาคลอดได้เพียงไม่กี่วัน บางคนไม่ทันจะรู้จักลูกเท่าไรก็ต้องพรากจากกันเสียแล้ว นับเป็นสังคมสมัยใหม่ที่น่าสงสาร น่าสงสารทั้งแม่ทั้งลูก น่าสงสารคนทั้งสังคม การเลี้ยงลูกของผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ที่หญิงนั้นมีต่อลูกของเธอเท่านั้น แต่หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของมนุษยชาติ ผลพวงแห่งความเป็นแม่นั้น ผลิดอกออกผลเป็นองค์รวมของสังคม 

วิถีชีวิตและการทำงานสมัยใหม่ที่พรากแม่พรากลูก จะก่อผลระยะยาวแก่สังคมทั้งโลกอย่างมหาศาล ดังที่เราเห็นและเผชิญกันทุกวันนี้ ทั้งในระดับชุมชน ภาคพื้น และรวมถึงภาวะสงครามที่กำลังก่อเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก ยังไม่นับถึงสงครามย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในโลกใบนี้ ผู้เขียนเชื่อและยืนยันความเชื่อว่า การให้การศึกษาที่ดีที่สุดที่จะปรับเปลี่ยนโลกใบนี้ให้คลี่คลายไปในทางกุศล ต้องเริ่มจากการที่สังคมยอมลงทุนในเรื่องสวัสดิการแม่ลูกอ่อน ต้องปลูกฝังให้แม่เลี้ยงลูกของตนด้วยตัวเอง ต้องให้แม่เป็น “บุพพาจารย์” เป็นครูคนแรกของลูก 

ปฐมสิกขาของมนุษย์เราต้องเริ่มที่ “บ้าน” ไม่ใช่ที่โรงเรียน ครูคู่แรกของคนเราต้องเป็น “พ่อแม่” ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจากสถานเลี้ยงเด็กและสถานศึกษา ปฐมสิกขาที่ว่านี้ เด็กเริ่มบทแรกเมื่อเริ่มดูดน้ำนมจากอกแม่ การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้น ณ จุดนั้น
...............

๕.เลี้ยงลูกอย่างลิง

ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนเสวนาร่วมกับนักวิชาการด้านเด็ก แพทย์หญิงคนหนึ่งได้อธิบายให้แม่ ๆ ในห้องเสวนาฟังว่า แม่ควรจัดเตียงนอนให้ลูกแยกห้องกับพ่อแม่เสียตั้งแต่ยังเป็นทารก เพราะถ้าลูกโตแล้วจะแยกห้องยาก การแยกห้องนอน เป็นการฝึกลูกให้มีระเบียบวินัย มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าหาญ และทำให้ชีวิตส่วนตัวทางเพศของพ่อแม่ไม่ถูกรบกวนมากเกินไป ทั้งเป็นการดีที่เด็กจะไม่ต้องเห็นการแสดงความรักทางเพศของพ่อแม่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายในด้านจิตวิทยากับเด็กในอนาคตได้


ผู้เขียนแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ผู้เขียนไม่เห็นด้วยต่อทฤษฎีและแนวความคิดเรื่องแยกห้องลูกตั้งแต่เป็นทารก ตอนนั้นวัยของผู้เขียนยังน้อย จึงออกจะปากไวไปหน่อย พูดโพล่งในที่ประชุมว่า ผู้เขียน "เลี้ยงลูกอย่างลิง" แม่นอนไหนลูกก็นอนด้วย แม่ไปไหนก็เอาลูกห้อยหน้าห้อยหลังไปเหมือนกับลูกลิง เคยเห็นลิงเลี้ยงลูกไหม ลูกลิงห้อยติดตัวแม่ไปไหนต่อไหน จนถึงคราวปีกกล้าขาแข็ง ก็ค่อย ๆ แยกตัวห่างออกวัยละเล็กวัยละน้อย ที่สุด เราก็ไม่เคยเห็นลิงที่โตเต็มที่แล้วตัวไหน เกาะติดแม่ลิงไปตลอดชีวิต
ความคิดเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างลิงนั้น เป็นคำพูดประชดประชันที่ผู้เขียนพูดไปอย่างไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า พูดไปด้วยอารมณ์อย่างแม่เสือหวงลูก ไม่ต้องการให้ใครมาพรากลูกเรา ทั้งก็ไม่ต้องการให้ใครมาล้างสมองเราว่า ลูกต้องนอนแยกจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นทารก ตอนนั้นไม่มีโอกาสพอที่จะอธิบายว่าทำไมจึงไม่ควรแยกลูกเล็กไปอยู่คนละห้องกับพ่อแม่ แต่ตอนนี้มีทั้งโอกาส เวลา และประสบการณ์เพียงพอที่จะอธิบายได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ทำไมลูกจึงต้องนอนกับแม่ จนกว่าเวลาของการปลีกตัวจะมาถึงเองตามธรรมชาติ

การเลี้ยงลูกให้อยู่แต่ในแปลเด็ก หรือบนเตียงคอก ถึงเวลาก็ชงนมใส่ขวดมาป้อน นมหมดขวดก็จับลูกวางบนคอกตามเดิม ถึงเวลาก็พาไปอาบน้ำ ถึงเวลาก็อุ้มใส่รถเข็นไปเดินเล่น ถึงเวลาก็ป้อนอาหาร ถึงเวลาก็พาไปนอนบนเตียงคอก การฝึกเช่นนี้ฟังดูเป็นการเลี้ยงลูกในอุดมคติทีเดียว ฟังดูชีวิตช่างง่ายดาย กิจวัตรดำเนินไปเหมือนตารางสอนของนักเรียนในโรงเรียน หรือจะว่าเหมือนคนงานในโรงงานก็คงได้ หากการเลี้ยงเด็กง่ายดายเช่นนี้ ใครก็ทำแทนแม่ได้สิ 

แต่ความจริง ชีวิตไม่ได้ตื้นเขินเพียงนั้น ชีวิตเป็นสิ่งซับซ้อน การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมีความซับซ้อนครอบคลุมมิติที่หลากหลาย การกินการนอนของลูก ไม่ได้เป็นเพียงกลไกของร่างกายเท่านั้น แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รู้ดีว่าทำไมจึงต้องให้ลูกนอนข้างอกตลอดคืน ออกจะตลกไปหน่อย หากแม่ต้องลุกขึ้นกลางดึกตามเสียงนาฬิกาปลุก แล้วเดินไปที่ห้องของลูก อุ้มลูกขึ้นมาจากเตียงคอก เอาลูกนอนบนตัก เปิดนมให้ลูกดูด แม่นั่งสัปหงกไปบนเก้าอี้ให้นม ๒๐ นาที แล้วเดินกลับมานอนต่อในห้องนอนของแม่ แม่ลูกไม่ใช่หุ่นยนต์กลไก 

ลูกนอนข้างแม่ เมื่อเขาหิวเขาจะเอามือเปะปะควานหาแม่ ใบหน้าเขาจะซุกไซ้เหมือนลูกหมาตามกลิ่นเต้านมแม่หมา อย่างไรอย่างนั้น ท่าให้นมลูกในท่านอน แม่ต้องนอนตะแคง มือช้อนท้ายทอยลูกให้แก้มลูกแนบกับอกแม่ อีกมือหนึ่งแม่มักจะตีก้นลูกเบา ๆ ท่าตีก้นเด็กเบา ๆ สืบทอดกันมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น จังหวะที่มือแม่ตบก้นลูกเบา ๆ อย่างอ่อนโยนเป็นจังหวะเดียวกับจังหวะหัวใจเต้น ทุกครั้งที่ลูกฝันผวายามดึก แม่จะรู้ตัวก่อนใครทั้งนั้น มือแม่เอื้อมไปตบก้นลูกเบา ๆ อย่างเป็นไปเองตามสัญชาตญาณ สัญชาตญาณแม่ได้ผลทุกคราว ลูกไม่เคยร้องไห้จ้ากับฝันร้าย ผวาตื่นคราใดก็อุ่นใจว่ามีแม่อยู่ใกล้ บางวันลูกนอนมื้อกลางวันมากไปหน่อย กลางคืนจึงนอนไม่หลับ 

เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ บางคืนเขาก็นอนไม่หลับ บางคืนเขาก็กังวล โลกเมื่อตอนกลางวันอาจสร้างความหวาดหวั่นบางอย่างในใจลูก คืนที่ลูกนอนไม่หลับหรือลูกกังวล เขาจะใช้นิ้วเล็ก ๆ นุ่มนิ่มของเขาคว้าแขนแม่ไว้แน่น แม้ว่าแม่จะนอนหลับไปแล้ว ลูกก็ไม่กวน เพียงแค่ได้คว้ามือหรือแขนแม่ไว้ก็อุ่นใจว่าปลอดภัยแล้ว 

ในแต่ละวันเด็กเผชิญกับโลกกว้างขึ้น แปลกใหม่ขึ้น ซับซ้อนสับสนยิ่งขึ้นตามลำดับ ตกดึกบางคืนสิ่งเรียนรู้ใหม่ ๆ ก็ทำให้ลูกตื่นเต้น หวาดกลัว และวิตกกังวล ความรู้สึกเช่นนี้เป็นธรรมชาติ ใครเคยเลี้ยงหมาน้อย คงเคยเห็นว่าขนาดลูกหมายังฝันร้าย ผวาตื่นวิ่งซุกหาแม่หมาเลย นับประสาอะไรกับลูกคน ออกจะใจร้ายไปหน่อย หากปล่อยให้ลูกเผชิญกับความหวาดกลัวยามค่ำคืนแต่เพียงผู้เดียวในขณะที่อินทรีย์ลูกยังไม่พร้อม

ความหวังดีที่ผู้ใหญ่หวังจะตระเตรียมให้ลูกมีชีวิตที่มีระเบียบวินัย มีชีวิตตามตารางเวลา ฝึกลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกตัวน้อย จะเป็นการทำให้เด็กสูญเสียฐานรากแห่งความมั่นคงทางจิตใจ สูญเสียความเชื่อมั่นต่อโลก และพกพาความวิตกหวาดกลัวที่หาสาเหตุไม่ได้ไปตลอดชีวิต 


เรื่องถกเถียงกันอีกเรื่องเกี่ยวกับการให้ลูกนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ คือเรื่องความเป็นส่วนตัวในชีวิตเพศของพ่อแม่ ผู้เขียนและพ่อของลูกเห็นพ้องกันในเรื่องนี้ว่า ลูกไม่ได้อยู่กับเรานานนัก เปรียบเหมือนลูกลิงไม่ได้เกาะอยู่บนหลังแม่ลิงไปตลอดชีวิต อีกทั้งชีวิตส่วนตัวของเราก็มีอาณาเขตมากมาย 

การเป็นพ่อเป็นแม่ไม่ใช่เพียงเราประกอบกามกิจแล้วก่อเกิดเด็กขึ้นมาคนหนึ่ง แล้วเราก็ยังเห็นว่ากามกิจของเรานั้นสำคัญกว่าจิตวิญญาณของลูก พ่อแม่สามารถเลือกเวลา เลือกสถานที่สำหรับกิจกรรมส่วนตัวเมื่อไรก็ได้ แต่เวลายามค่ำคืนที่ลูกต้องการความมั่นคงทั้งทางกาย และทางจิตใจนั้นเราต้องเสียสละความสุขส่วนตัวให้เขา 

ความมั่นคงทางอารมณ์จิตใจในขวบปีแรกจะเป็นมูลฐานของความมั่นคงทางจิตวิญญาณลูกไปตลอดชีวิต เรื่องนี้ผู้เขียนถือว่าเป็นสารัตถะของคำว่า “การศึกษา” คนเราจะศึกษาหาความรู้ไปทำไมกัน หากจิตวิญญาณของเรายังหาที่พำนักที่ปลอดภัยไม่พบ 

ถ้าสังคมไม่กลับมาให้ความสำคัญกับแม่ในเรื่องการเลี้ยงลูกตามธรรมชาติที่ถูกต้อง สังคมก็จะได้เพียงนักศึกษาที่หัวใจยังไม่เปิด สังคมจะได้คนเก่งที่เห็นแก่ตัว โลกจะได้ผู้นำที่ไม่สามารถเข้าถึงหัวจิตหัวใจของผู้อื่น คนที่ก้าวร้าว บ้าอำนาจ เผด็จการ และเห็นแก่ตัว ที่แท้พวกเขาล้วนมีความกลัว มีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย หัวใจพวกเขาคลอนแคลนหวาดหวั่น จิตวิญญาณของพวกเขาไร้ฐาน ไร้พลัง ยิ่งพวกเขาฉลาดเก่งกาจในทางโลกมากเท่าใด โลกก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้น
...............

๖. ญาณที่เกิดขึ้นเอง

ความรู้สมัยใหม่ในด้านเด็ก เราได้รับอิทธิพลจากข้อความรู้ทางตะวันตกเช่นเดียวกับศาสตร์ด้านอื่น ๆ ความรู้ทุกอย่างมีทั้งจุดดีและจุดอ่อน ไม่มีความรู้ใดสมบูรณ์พร้อม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ของบรรพชนของเราเอง หรือความรู้จากคนต่างทวีป ความรู้ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ล้วนมาจากการสังเกตธรรมชาติ พินิจพิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นของธาตุธรรมชาติ ตั้งแต่ระดับที่จับต้องมองเห็นได้ไปถึงระดับอะตอม 


เมื่อความรู้ทั้งหลายคือการเฝ้าสังเกตธรรมชาติ ตัวแม่เป็นธาตุธรรมชาติ ลูกก็เป็นธาตุธรรมชาติ ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกจึงคือการเฝ้าสังเกตตัวเอง และเฝ้าสังเกตลูก เฝ้าสังเกตธาตุธรรมชาติในตัวเองและในตัวลูก ไม่ใช่ไปเชื่อเอาแต่สิ่งที่คนอื่นสังเกตสังเคราะห์ไว้ให้แล้วเท่านั้น 

และเพราะธาตุธรรมชาติคือ “อนิจจัง” คือความไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ความแปรเปลี่ยนไม่คงที่นี้ทำให้ธาตุธรรมชาติมีความแตกต่างหลากหลาย แม่ที่เลี้ยงลูกหลายคนจะรู้ดีว่า ลูกแต่ละคนมีธาตุธรรมชาติเฉพาะของตัวเอง ลูกมาจากท้องแม่เดียวกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันสักคน แม่จะเอามาตรฐานทฤษฎี หรือกระบวนการสำเร็จรูปใดมาใช้เบ็ดเสร็จไม่ได้ แต่ธรรมชาติให้สิทธิพิเศษที่จะสามารถ"รู้ได้เอง"มาแล้วกับแม่ทุกคน สิทธิพิเศษนี้คือ “สัญชาตญาณ” ของความเป็นแม่ 

เรามักรังเกียจคำว่า “สัญชาตญาณ” บ้างบอกว่าฟังดูไม่ค่อยอารยะเท่าไร ฟังดูเทียบชั้นกับสัตว์ยังไงไม่รู้ แต่ผู้เขียนเห็นต่างไป แม้ในสัตว์แม่ลูกอ่อน สัญชาตญาณของความเป็นแม่ก็แสดงให้ประจักษ์ชัดเจนว่า มันรักลูก ปกป้องลูก เสียสละตนได้เพื่อลูก และถ้าพิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด มีวิธีสอนลูกที่แยบคาย 

“ญาณ” ที่เกิดขึ้นเองนี้จะมีกำลังแรงในแม่ที่เลี้ยงลูกเองและเลี้ยงด้วยน้ำนมของตัวเอง ปัญหาของแม่ยุคใหม่ คือไม่สามารถใช้ญาณจากธรรมชาตินี้ได้อย่างเป็นปกติ เทียบกับแม่ยุคก่อนหรือแม่ชาวบ้าน การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องใหญ่โตวุ่นวายที่ต้องไปพึ่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษหลายสาขา ทั้งสูติแพทย์ ทั้งพยาบาล ทั้งหมอเด็ก ทั้งหมอผ่าตัด ทั้งนักโภชนาการ ทั้งนักการศึกษา ทั้งนักจิตวิทยา รวมทั้งนักวิจัยและสื่อต่าง ๆ อีกมาก 

กระบวนการเลี้ยงลูกยุคใหม่ต้องพึ่งพาความรู้ภายนอกมากเกินไป ทำให้การเลี้ยงลูกไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เป็นธรรมดาอย่างที่ควรเป็น พอไม่เป็นธรรมชาติและไม่ธรรมดา ญาณรู้เองก็ไม่เกิด สิ่งที่ควรรู้เองจากภายในก็ไม่รู้ หรือรู้แล้วก็ไม่แน่ใจ ลังเล สงสัย ไม่เชื่อตัวเอง เพราะเราเติบโตมาด้วยระบบการศึกษาที่ให้คุณค่ากับการพึ่งพาโลกภายนอก ละเลยโลกภายใน เป็นเรื่องน่าเสียดาย และสิ้นเปลืองมาก เมื่อแม่ละทิ้งความรู้จากญาณที่เกิดขึ้นเองภายในตน แล้วหันไปซื้อความรู้จากคำบอกเล่าภายนอกเสียหมด 

ญาณที่เกิดขึ้นเองในความเป็นแม่ ไม่มีลำดับชั้นวรรณะ มั่งมียากจน หรือความเหลื่อมล้ำทางวุฒิการศึกษา เพราะญาณนี้เป็นพื้น “ความรู้ธรรมดาอันเป็นฐานของชีวิต” ไม่ว่าแม่จบปริญญาเอก หรือแม่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็สามารถมีญาณนี้เท่าเทียมกัน หากว่าแม่นั้นเลี้ยงลูกเอง และไม่ถูกกระแสหลักของโลกปัจจุบันพาให้หลงละเลยญาณภายในของตนเสียก่อน ความรู้ที่เกิดขึ้นจาก “ญาณ”ที่มาพร้อมกับความเป็นแม่ชุดนี้ เป็นความรู้พื้นฐานที่แม่จะเป็นผู้ถ่ายโอนสู่ลูก ผ่านกระบวนการเลี้ยงดู ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสติปัญญา และทางจิตวิญญาณ 

...............

๗. ความรู้ธรรมดา รู้อะไร

แม่ที่เลี้ยงลูกเองจะเป็นแม่ที่ “ตื่นตัว” การเลี้ยงลูกต้องตื่นตัวตลอดเวลา คนอื่นฟังเสียงเด็กร้องไห้จะแยกไม่ออก ฟังยังไงเสียงร้องนั้นก็เหมือน ๆ กัน แต่แม่จะรู้และจำเสียงของลูกตัวเองได้ เสียงนี้ใช่ เสียงนี้ไม่ใช่ เสียงแบบนี้แปลว่าลูกหิว เสียงแบบนี้แปลว่าเจ็บ เสียงแบบนี้แปลว่าง่วง เสียงแบบนี้แปลว่ากลัว แม่จะรู้และตื่นไวต่อเสียงลูกตลอดเวลา ความตื่นตัวตามสัญชาตญาณเช่นนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้แม่ไวต่อการเรียนรู้ในตัวเองด้วย


แม่ก็คือปุถุชน ซึ่งมีโทสะ มีโลภะ และ โมหะ เกิดอารมณ์โกรธโมโหลูกได้บ่อย ๆ อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีความกลัว มีความกังวล มีลังเลสงสัยคล้อยตามกระแส มีความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่หากว่าแม่ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ของตน ไม่ยกลูกไปให้คนอื่นเลี้ยง การเลี้ยงดูลูกใกล้ชิดจะทำให้กำลังของญาณภายในของแม่เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ 

แม้จะมีทฤษฎีที่กล่าวถึงจิตวิทยาและพัฒนาการของเด็กอยู่มาก ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าของนักทฤษฎีชาวตะวันตก ระยะเวลาของทฤษฎีเหล่านั้นทำให้มีทั้งฝ่ายที่เห็นพ้องกันและฝ่ายขัดแย้งกัน เกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมาลบล้างแนวคิดเก่าตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการหมุนเปลี่ยนเวียนผันของโลกและจักรวาล แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่ามีความรู้ร่วมกันอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็น “ความรู้พื้นฐาน” ซึ่งสะท้อนความจริงแห่งความดีและความงาม และแม่นั่นเองเป็น “บุพพาจารย์” ผู้บ่มเพาะความรู้ธรรมดาชุดแรก ชุดที่เป็นฐานหลักของเราไปตลอดชีวิต ความรู้ชุดนี้ ประกอบด้วย

๗.๑. รู้ตัว

การเลี้ยงลูกสอนให้แม่ตื่นรู้เองตามสัญชาตญาณ ความตื่นรู้นั้นทำให้แม่ตระหนักในความ “รู้ตัว” และความรู้ตัวนี้ แม่ถ่ายทอดสู่ลูกผ่านความรัก ความเมตตา ความกรุณา ผ่านจิตที่มีมุทิตาและอุเบกขา ด้วยคุณภาพหัวใจของแม่เช่นนี้ แม่ได้สอนลูกแล้ว สอนโดยไม่ต้องสอน ลูกได้ซึมซับความรู้เหล่านี้ “รู้จักรัก” “รู้จักเมตตากรุณา” “รู้หน้าที่” “รู้ผิดชอบ” “รู้เท่าทัน” และ “รู้สึก”

เมื่อเด็กได้รับรัก เด็กก็รู้จักรัก เมื่อเด็กได้เมตตา เด็กก็อยากให้ผู้อื่นมีความสุข เมื่อเด็กได้รับกรุณา เด็กก็รู้จักสงสาร มองเห็นทุกข์ของเพื่อนได้ง่าย และเกิดความเห็นอกเห็นใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น สิ่งนี้เป็นต้นเค้าของจิตสำนึกทางสังคม หากไม่ก่อกันตรงนี้ เราจะหวังให้โลกสงบสุขนั้นเป็นไปไม่ได้
เมื่อเด็กโตมาในบรรยากาศที่มีมุทิตาและอุเบกขาจิตกำกับ เด็กก็ไม่อิจฉาริษยา เห็นเพื่อนได้ดีก็ส่งเสริม ไม่ขัดแข้งขัดขาเลื่อยเก้าอี้กัน ไม่เอาเปรียบกัน 

เด็กที่โตมาในครอบครัวที่เดินอยู่บนทางสายกลาง ไม่ติดกรอบมากไป หรือละหลวมเกินไป เด็กจะมีความยืดหยุ่น วางใจเป็นกลางเป็น คิดหน้าคิดหลัง และรู้เท่าทัน 

เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ “สติ” ในการเลี้ยงลูก เด็กจะได้ซึมซับเรื่อง “ความรับผิดชอบและหน้าที่” หน้าที่ที่ไม่มีใครบังคับให้ทำ แต่เป็นหน้าที่ที่ญาณภายในสั่งออกมาเองว่าเรามีหน้าที่ เราเป็นแม่เราต้องเลี้ยงดูลูก เราต้องเสียสละ เด็กได้เห็นแม่ตื่นก่อนนอนทีหลัง เด็กได้เห็นแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกได้อิ่มก่อน เด็กได้เห็นแม่ทำงานไม่บ่นเหน็ดบ่นเหนื่อย เด็กเรียนรู้ความรับผิดชอบ ความอดทน อดกลั้น เรียนรู้ว่าทุกคนเกิดมามีหน้าที่ของตน เป็นหน้าที่ที่ไม่ต้องให้ใครมาขีดเส้นหรือมาสั่งการ สิ่งสำคัญที่ลูกเรียนรู้คือ เขารู้ว่าแม่มีหน้าที่แม่ พ่อมีหน้าที่พ่อ และเขามีหน้าที่ลูก เมื่อลูกรู้ว่าตนมีหน้าที่เฉพาะตน การเลี้ยงดูตลอดวัยเด็กก่อนที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือน่าหวาดวิตกว่าลูกจะติดยาเสพติด หรือระเริงไปในทางเสื่อม 

ที่สุดของความเป็นมนุษย์อีกเรื่องคือ “ความรู้สึก” คนเราต้องได้รับการบ่มเพาะให้ “รู้สึก” ในทางกุศลตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อ “ความรู้สึก” ที่ติดตัวไปตลอดชีวิตจะได้เป็นเครื่องนำทางที่ปลอดภัย การเลี้ยงลูกอย่างมี “สติรู้ตัว” เป็นการสอนและปลูกฝัง “ความรู้สึก” ที่ดีงาม เข้มแข็ง มั่นคง และพร้อมจะขยายผลทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อ ๆ ไป

๗.๒.รู้กัน

ยามเพื่อนสนิทมองหน้ากัน แม้ไม่ต้องเอ่ยวาจาพูด สายตาก็บอกนัยว่า “รู้กัน” หากเอาความคุ้นเคยของภาษาพูด ภาษาเขียนไปจับ การ”รู้กัน”นี้ต้องถือว่าเป็น “ภาษาใจ” เป็นการสื่อสารที่เหนือภาษาปกติ ทักษะในเรื่อง “รู้กัน” นี้ถ้าเทียบเคียงกับทฤษฎีสมัยใหม่ ก็คงเทียบใกล้กับเรื่องปัญญาทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence 

แต่ผู้เขียนไม่อยากเห็นปัญญาทางอารมณ์ที่เราสอนเด็กกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นไปเพื่อหวังประโชยน์ตนทางอ้อม นักธุรกิจหรือนักการเมืองใช้ความฉลาดทางอารมณ์ที่ฝึกปรือมาอย่างชำนาญเยี่ยมในการเจรจาต่อรอง ความฉลาดนี้เป็นไปเพื่อการเอาชนะ ไม่ได้เป็นไปอย่างเมตตา นี่ต้องระวังให้ดีเมื่อเกิดการตื่นตัวเรื่องพัฒนา E.Q. ในระบบการศึกษาไทย 

แม่ที่เลี้ยงลูกอย่างมี “สติ” จะมีทักษะในการสื่อภาษาใจกับลูกตั้งแต่ลูกยังพูดไม่เป็น แม่และลูกเรียนรู้การสื่อภาษาใจร่วมกัน และเมื่อลูกพอจะอ้อแอ้หัดพูด “ภาษารู้กันหรือภาษาใจ” จะค่อย ๆ เบ่งบานมาเป็น “ถ้อยคำที่รู้กัน” เด็กที่เติบโตผ่านขั้นการใช้ภาษาใจและภาษา”รู้กัน”เช่นนี้ จะเป็นเด็กที่สามารถ “สื่อสาร” และ “รับสาร” ได้แม่นยำถูกต้องว่องไว 

ทักษะการสื่อสารไม่ใช่เพียงพูดภาษาไทยได้ และอ่านภาษาไทยออกก็จะคุยกันรู้เรื่อง มิติของการสื่อสารมีมากกว่าภาษาพูดมากนัก ธรรมชาติได้ให้ทักษะการสื่อสารหลากมิติติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่น่าเสียดายที่กระบวนการเลี้ยงดูสั่งสอนกระแสหลักได้สกัดกั้นและทำลายทักษะนี้ไปเกือบหมด
“ภาษาใจ” หรือ “สัญญาณใจ” แทบไม่เคยได้รับการเอ่ยถึงเลยในทฤษฎีการเลี้ยงเด็กสมัยใหม่และทฤษฎีการศึกษาในระบบโรงเรียน หากเราไม่ดำรงทักษะพิเศษที่เด็กทุกคนมีอยู่แล้วนี้ไว้ เราจะหวังให้ผู้คนในสังคมสื่อสารกันรู้เรื่องอย่าง”เข้าอกเข้าใจ” กันได้อย่างไร ต้นเหตุหลักของ“ความขัดแย้ง”ทั้งหลาย ล้วนมาจากการสื่อสารที่เข้าไม่ถึงหัวใจของอีกฝ่ายนั่นเอง ดังนั้นหากแม่ทำหน้าที่ดูแลให้เด็กได้เรียนรู้ “ภาษาใจ” เป็น ก็เท่ากับช่วยสังคมลด “ความขัดแย้ง” ไปด้วยเช่นกัน

๗.๓. รู้อยู่รู้กิน

ความเป็นแม่ย่อมอยากให้ลูกอยู่ดีกินดีมีความสุข เพราะแม่นั้นรักลูก แต่หากความรักของแม่เป็นไปอย่างไม่รู้เท่าทัน ความรักนั้นอาจเป็นโทษแก่ลูกได้ ยุคช่วงหลังสงครามโลกเมื่อฝรั่งชนะสงคราม คนเอเซียเราอยากตัวโตสูงใหญ่เหมือนอย่างฝรั่ง วัฒนธรรมการกินการอยู่ปรับเปลี่ยนไปกินอยู่อย่างฝรั่ง บ้านเราเมืองร้อน เดิมเรากินข้าวกินผักเป็นหลัก พอหันไปกินเนื้อ กินนมเนยไข่ มันก็ไม่ถูก ปัญหาโรคภัยก็ตามมา อ้วนเกินไป โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบย่อย 

การกินเนื้อสัตว์และน้ำตาลมากไป ยังทำให้พฤติกรรมและอารมณ์ของเราผิดเพี้ยนไปด้วย เด็กไทยเดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องอ้วน ก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ความอดทนอดกลั้นมีน้อย ภูมิต้านทานโรคพื้นฐานต่ำ เด็กในเมืองใหญ่มีแนวโน้มที่จะได้รับอาหารมากเกินไป และเป็นอาหารที่เกินประโยชน์สำหรับดำรงชีพ อาหารที่เกินประโยชน์นี้ต้องสำเหนียกให้ทันกับตลาดของผู้ผลิตด้วย เราให้ลูกกินเยอะเกินไปเพราะลูกต้องการจริงหรือเปล่า หรือเพราะเรากำลังถูกหลอกให้ “ซื้อ” ตลอดเวลา 

การดูแลเรื่อง “การกินการอยู่” ในบ้าน แลดูเผิน ๆ คล้ายจะเป็นหน้าที่ที่ด้อยคุณค่า แต่ความเป็นจริง"การบริหาร"งานบ้านเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยสติปัญญาพอสมควรทีเดียว สติปัญญาตรงนี้ก็ไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษาหรือการอ่านพูดภาษาอังกฤษคล่องหรือคิดเลขเก่งเสียด้วย 

แต่ปัญญาที่ว่านี้คือ “การรู้จักความพอดี” รู้จัก “พอ” อย่าง “ดี” กินอย่างไรให้ “พอ”อย่าง”ดี” คำถามนี้คนสมัยก่อนเขาไม่ถามกัน เพราะตลาดอาหารไม่ได้รุกรานเข้าไปถึงในบ้านในมุ้งเหมือนสมัยนี้ จะว่าไปแม่สมัยใหม่ต้องมีสติรู้เท่าทันกว่าแม่สมัยก่อนด้วยซ้ำไป การจับจ่ายซื้อของในตลาดติดแอร์เป็นสถานที่ท้าทาย”สติ”ของแม่มาก 

พฤติกรรมเข็นตระกร้าติดล้อแล้ว “หยิบใส่ ๆ” เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่ลูกเล็กคอยมองและเลียนแบบ ห้างบางห้างรู้จุดอ่อนตรงนี้ดี จึงหารถเข็นคันเล็ก ๆ สีสันล่อใจเด็กมาบริการให้ลูกเล็กได้เข็นตามแม่และฝึกพฤติกรรม “หยิบใส่ ๆ” เสียด้วยในคราวเดียวกันเลย แม้ว่าแม่ลูกจะมีเงินมากพอจะซื้ออะไรเท่าไรก็ได้ตามต้องการ บางบ้านอาจพูดว่าพวกเขามีเงินพอ ไม่จำเป็นต้องประหยัดอดออม ลูกอยากซื้อเท่าไรก็ซื้อ อยากได้อะไรก็ซื้อเลย จริงอยู่ “เรื่องอดออม” อาจไม่ใช่ปัญหาหลักของพ่อแม่ในเมืองที่มีช่องทางทำมาหาเงินได้คล่อง แต่ประเด็นที่คนมีเงินพลาดไปคือการสอนเรื่อง “ความยับยั้งชั่งใจ”
 
“ความยับยั้งชั่งใจ” เป็นเรื่องที่เล่นกับกิเลส เล่นกับความอยาก อยากได้ อยากกิน อยากมี อยากเป็น ความยับยั้งชั่งใจไม่ใช่เรื่องที่จะมาสอนกันด้วยคำพูดหรือข้อห้ามได้ง่าย ๆ แต่เราต้องปลูกความยับยั้งชั่งใจให้ลูกตั้งแต่เขาเล็ก ๆ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือพ่อแม่เองต้องฝึกยับยั้งชั่งใจให้ได้เสียก่อน การยับยั้งชั่งใจก็คือ “รู้ตัว” และ “รู้ทัน”
 
ต้อง “รู้ทันตัวเอง” ว่าสิ่งที่ “หยิบใส่ ๆ” ในตระกร้ารถเข็นนั้น เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องกินต้องใช้จริงหรือไม่ หรือหยิบใส่ด้วยความ “ไม่รู้ตัว” และ “รู้ไม่ทัน” หยิบไปตามกิเลสที่ถูกเขาหลอกง่ายดาย สินค้าใหม่ก็หยิบ สินค้าสวยก็หยิบ ของแถมก็หยิบ ของถูกก็หยิบ 

พฤติกรรมหยิบใส่ ๆ นี้ไม่ได้สะท้อนความไม่ยับยั้งชั่งใจอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนความไม่ใส่ใจ “ระบบนิเวศ” อีกด้วย ยิ่งเราสอนลูกให้ซื้อสินค้ามากเท่าไร “ขยะ” ก็ยิ่งมากขึ้นตามนั้น เราผลาญธรรมชาติไปอย่างสูญเปล่าเท่าใดต่อเท่าใด เพียงเพื่อจะแปรธรรมชาติเหล่านั้นให้มาเป็น “ขยะ” ขยะจากบรรจุภัณฑ์ของสิ่งบริโภคที่เกินความพอดีของชีวิต ทุกบาทที่จ่ายไปเราได้ปัจจัยดำรงชีวิตน้อยนิดแต่ได้ขยะมาพะเรอเกวียน แล้วเราต่างก็ปัดขยะนั้นให้พ้นหน้า พ้นบ้าน แล้วเข้าใจว่า “พ้นตัว” แล้ว 

หารู้ไม่ว่าไม่เคยมีขยะอะไร “พ้นตัว” สักชิ้นเดียว มลพิษจากขยะทุกชิ้นล้วนย้อนกลับมาหาเราวันยังค่ำ ทั้งในรูปของ “ขยะกายภาพ” และ “ขยะใจ” หากว่า “บ้าน” และ “พ่อแม่” ไม่ตระหนัก และไม่ใช้สติในเรื่อง “รู้อยู่รู้กิน” ก็ไม่มีระบบการศึกษาใดสามารถสอนเรื่องนี้ได้ บ้านคือระบบเดียวที่สามารถเล่นเรื่องนี้ได้ลึกและได้ผล แต่”บ้าน”ทุกวันนี้ได้ถูกระบบการศึกษาหลักและกระแสสังคมดูดพลังไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นหากเราจะพูดเรื่องความหวังจาก “การศึกษาทางเลือก” เราต้องช่วยกันพยุง “บ้าน” ให้ยืนขึ้นอย่างสง่างามเสียก่อน

๗.๔. รู้กาล


เรามีนาฬิกาข้อมือผูกติดตัวคนละเรือน เราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ “รู้เวลา” เราไม่ไปทำงานสาย ไม่ไปประชุมช้า ไม่ผิดเวลานัด เพราะเรากำหนดตัวเองว่าเป็นคน “ตรงต่อเวลา” “เวลา” เป็นอีกเรื่องที่แม่และคนทำงานด้านการศึกษาต้องใคร่ครวญให้ดี ต้องพิจารณาและรู้เท่าทันว่า เมื่อใดสามารถใช้ “เวลาจากเข็มนาฬิกา”ไปจับ เมื่อใดต้องใช้”เวลาจากธรรมชาติ” เวลาของแสงอาทิตย์ เวลาของข้างขึ้นข้างแรม และเวลาของฤดูกาล หรือเมื่อใดต้องปล่อยให้”เวลาภายใน”ของเด็กแต่ละคน(หรือของเราแต่ละคน)เดินไปตามจังหวะเฉพาะตัว 


ตัวอย่างเบื้องต้นที่สุดในการเลี้ยงทารก คือปัญหาที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความเกี่ยวกับค่านิยมการเลี้ยงทารกปัจจุบันนี้ ที่นิยมเลี้ยงโดยอิงเวลาจาก“นาฬิกา”เป็นหลัก เวลาของนาฬิกาเป็นข้อตกลงร่วมของสังคมผู้ใหญ่ เด็กทารกยังไม่รับรู้เวลาที่เป็นข้อตกลงร่วมของพวกผู้ใหญ่นี้ เวลาของเด็กจึงอิงกับเวลาของธรรมชาติและเวลาภายในของเขาเอง การควบคุมให้เขาหิวตามเวลา ตื่นและหลับตามเวลา เล่นตามเวลา กินตามเวลา เป็นการสะท้อนว่าผู้ใหญ่กำลังมองเด็ก(และมองตัวเอง)เป็นเครื่องจักรเครื่องกลเหมือนดั่งกับลานนาฬิกาแล้ว 

การรับรู้เรื่อง “เวลา” เราใช้วิธีการ ๒ อย่าง คือ ๑.การวัด และ ๒. การหยั่ง
 
ความจริงเราก็ใช้ทักษะ ๒ ตัวนี้ในด้านอื่น ๆ ของชีวิตตลอดเวลา อยู่ที่ว่าใครใช้ “การวัด” มาก หรือใช้ “การหยั่ง” มาก “สมดุล” หรือไม่ สังคมไทยสมัยที่เครื่องมือและมาตราวัดอย่างฝรั่งยังไม่เข้ามา เราอาศัยมาตราจากสรีระเป็นหน่วยวัด เช่น ยาว ๒ ศอก กว้าง ๔ คืบ ทำให้บ้านแต่ละหลังมีขนาดเหลื่อม ๆ กัน เรียกว่ากว้างยาวไปตามขนาดคืบวาศอกของช่างแต่ละคน ครั้นพอวิทยาการแทรกเข้าไปทุกหัวระแหง หน่วยวัดจากสรีระกายเป็นหน่วยที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้เทศบาลเองก็ยังไม่ยอมรับ บ้านชนบทจึงกลายเป็นบ้านทรงเดียวกับบ้านโหลในเมืองไปหมด 

การป้อนนมลูกตามเวลานาฬิกา และตามปริมาตรของขวดนมเป็นการ “วัด” โดยอิงตัวเลขเป็นที่ตั้ง แต่การสังเกตสัญญาณจากท่าที สีหน้า แววตา และเสียงร้องแสดงอาการหิวจากเด็กเป็นการ “หยั่ง” สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีสัญญาณให้หยั่งรู้เป็นพิเศษ ทุกครั้งที่ลูกหิว แม้ว่าเวลาจะไม่ตรงหรือยังไม่ถึงเวลาตามเวลานาฬิกาบอก แต่นมแม่ก็จะคัดมีน้ำนมเอ่อล้นขึ้นมาเองทุกครั้ง เหมือนว่าพลังจิตของลูกสั่งน้ำนมแม่ได้อย่างไรอย่างนั้น นี่เป็นญาณที่หยั่งถึงกันได้ระหว่างแม่กับลูก คนเป็นแม่ที่ให้นมลูกเท่านั้นจึงจะมีประสบกาณ์เช่นนี้ นักทฤษฎีที่ไม่มีประสบการณ์ตรงคงเข้าใจญาณหยั่งแบบนี้ได้ยาก ดังนั้นเมื่อแม่ทุกคนล้วนมีโอกาสของการเป็นผู้สำรวจประสบการณ์ตรงของตัวเองอยู่แล้ว จึงต้องใช้โอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสของการเรียนรู้และวิจัยตนเอง จะไปเชื่อถือความรู้จากการวิจัยของคนอื่นหรือจากประสบการณ์ของคนอื่นเท่านั้นไม่ได้ 

เวลาเป็นเรื่องเหนือการควบคุม แต่ทุกวันนี้มนุษย์กลับพยายามจะมีอำนาจเหนือเวลา การเร่งเด็กเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะเอาชนะเวลา แม้ว่าในระยะแรกจะดูเหมือนได้ผลดี สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการหลายอย่างเร็วขึ้นทันใจ แต่ในระยะยาวกลับเกิดผลเสียหายหลายมิติกับตัวเด็กนั้น 

พัฒนาการของคนเราแต่ละคนมี “เวลาภายใน” เป็นตัวกำหนด แม้นักสถิติจะสามารถหาค่าเฉลี่ยได้ว่า เด็กอายุเท่านั้นเท่านี้ควรจะเดินได้ วิ่งได้ พูดได้ อายุเท่านี้พร้อมที่จะเรียนเขียนอ่านได้ แต่สถิตินี้ใช้เป็นเวลามาตรฐานกับทุกคนไม่ได้ สถิติทั้งหลายที่คิดขึ้นมาเป็น “เกณฑ์วัดมนุษย์” ล้วนมาจากมุมมองที่เห็นมนุษย์เป็น “มวล” เป็นกองชีวิตขนาดใหญ่ เหมือนสินค้าจำนวนมากที่ต้องมีตัวเลขมาตรฐานเป็นค่าชี้วัดคุณภาพ แต่เด็กไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่วัตถุ และไม่ใช่สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ การเลี้ยงเด็กและการให้การศึกษากับเด็ก เราจึงใช้สถิติหรือมาตรฐาน “วัด” อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้การ “หยั่ง” ด้วย 

ทีนี้ใครจะเป็นคนหยั่ง แล้วหยั่งอย่างไร การหยั่งนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรว่า หยั่งถูกหรือหยั่งผิด มีอะไรรองรับความผิดพลาดไหม คำถามนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อมีการพูดถึงเรื่องการ “หยั่ง” ขึ้นมา คำถามเช่นนี้แสดงนัยของ “ความกลัว” และ “ความไม่มั่นคงภายใน” อย่างชัดเจน 

เมื่อคราวที่องค์กรและเครือข่ายประชาชนที่ลงไม้ลงมือทำจริงเรื่องการศึกษาทางเลือก ได้เสนอให้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ เพิ่มรูปแบบการจัดการศึกษาจากเดิม ๓ รูปแบบ คือ ๑.การศึกษาในระบบ ๒.การศึกษานอกระบบ ๓.การศึกษาตามอัธยาศัย โดยเสนอให้เพิ่มข้อ ๔.การศึกษาทางเลือก เข้าไว้ด้วย 

ปรากฏว่า “การศึกษาทางเลือก” ถูกกำจัดออกไป ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าการศึกษาทางเลือกคือเรื่องเดียวกับการศึกษาตามอัธยาศัย ให้จับมารวมกันเป็นหมวดเดียวกันเสีย นี่เป็นความไม่เข้าใจหรือพยายามเลี่ยงที่จะเข้าใจของรัฐก็ไม่ทราบ การศึกษาทั้ง ๓ ระบบนั้น เป็นการจัดการศึกษาใต้อำนาจจัดการ ควบคุม และกำกับของรัฐ ถ้าหากมีระบบที่ ๔ “การศึกษาทางเลือก” รัฐจะควบคุม กำกับ ดูแลอย่างไร จะกลายเป็นระบบที่อยู่เหนืออำนาจจัดการของรัฐไหม 

การศึกษาทางเลือกต่างจากการศึกษาตามอัธยาศัยมาก การศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มคนซึ่งมีแนวคิด มีปรัชญาและเจตจำนงค์ในเรื่องการศึกษาเหมือนกันมาจัดการศึกษาร่วมกัน ที่ต้องมาจัดกันเอง ก็เพราะระบบที่รัฐจัดไว้นั้นไม่สามารถสนองเจตจำนงค์แห่งการใช้ชีวิตของพวกเขาได้ ที่ว่าไม่สนองเจตจำนงค์แห่งการใช้ชีวิต เพราะการศึกษากับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน การศึกษาที่รัฐจัดให้เป็นระบบที่ไม่สนองการใช้ชีวิตที่หลากหลาย บางคนอาจเรียกระบบส่งคนเข้าสายพานการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมก็คงจะได้ ดังนั้นเมื่อเกิดกลุ่มคนลุกขึ้นจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากแนวคิดหลักที่รัฐจัดให้จึงเรียกว่า การศึกษาทางเลือก ไม่ใช่การศึกษาตามอัธยาศัย 

ทีนี้การจัดการศึกษาโดยรัฐทั้ง ๓ ระบบ รัฐต้องการควบคุมและประเมินคุณภาพโดยอาศัยเครื่องมือหรือมาตรฐานที่รัฐทำขึ้นเพื่อ “วัด” ให้ได้ แต่ฝ่ายจัดการศึกษาทางเลือกเรียกร้องขอ “หยั่ง” ด้วยเครื่องมือของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทางเลือกหรือครอบครัวที่จัดการสอนให้ลูกเอง ต่างต้องการประเมินคุณภาพตามแนวทางของตนเอง ต้องการสิทธิในการไม่ถูก “ตีตรา” จาก”หน่วยวัด”ของรัฐ 

วันนี้เรามีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ดูผิวเผินก็เหมือนจะใจกว้าง มีมาตรา ๑๒ บอกไว้ว่า “นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฏกระทรวง” 

ที่ว่าดูเหมือนใจกว้างเพียงผิวเผินนั้น เพราะที่สุดแล้ว กฏกระทรวงก็จะเป็นตัวตะล่อมให้เด็กทั้งหมดว่ายวนเข้าไปติดกับของการ “วัด” คุณภาพแบบตะแกรงร่อนขนาดอยู่ดี ความพยายามพูดถึงการ “หยั่ง” เป็นเรื่องที่ไม้บรรทัดไม่ยอมรับ 

ที่จริงไม่ใช่เพราะ “การหยั่ง” ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่เป็นเพราะ ”ไม้บรรทัด” ต่างหากที่ตื้นเขินและไม่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะใช้วัดค่าการ “หยั่ง” เพราะการศึกษาทุกวันนี้เราปฏิเสธการ “หยั่ง” เราใช้แต่ค่า “วัด” ล้วน ๆ จึงทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถพัฒนาสิ่งที่ธรรมชาติให้มาตั้งแต่เกิด เด็กที่ผ่านการศึกษากระแสหลักที่เคยชินกับการ “วัด” ย่อมสูญเสียความสามารถในการ “หยั่ง” ไปวันละเล็กละน้อย กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็สูญเสีย “ญาณหยั่งรู้” ไปหมดแล้ว

๗.๕. รู้ความ


“รู้ความ” ในที่นี้คือ “รู้คิด” “รู้ทำ” “รู้จำ” “รู้ฟัง” “รู้พูด” “รู้อ่าน” “รู้เขียน” “รู้เรื่อง” “รู้รอบ” และ “รู้โลก” ฐานนี้เป็นฐานที่ดูเหมือนสังคมและระบบการศึกษาให้ความสำคัญมากอยู่แล้ว แต่ที่ว่าให้ความสำคัญนั้น พ่อแม่อย่าเพิ่งวางใจ ต้องจับตาดูให้ดีว่าความสำคัญที่กระแสสังคมให้นั้น เป็นความสำคัญในความหมายเดียวกับที่เราตีความคำว่า “ความรู้” หรือเปล่า 


เรื่องการ “รู้คิด-รู้ทำ”นั้น ที่พูดกันมากว่าปฏิรูปการศึกษาต้องสอนให้เด็ก “คิดเป็น-ทำเป็น” นั้น พ่อแม่ต้องลงไปพิจารณาให้ละเอียดว่า หลักสูตรที่สอนให้ลูกคิดเป็นทำเป็นนั้น “คิดเป็น” เพื่ออะไร เพื่อใคร และ “ทำเป็น” เพื่ออะไร เพื่อใคร คิดเป็นทำเป็นเพียงเพื่อตัวเองหรือเปล่า คิดเก่งทำเก่งเพียงเพื่อเอาตัวเองรอด เอาตัวเองให้ชนะแล้วกดหัวคนอื่นให้แพ้จมดินลงไปเลยหรือเปล่า 

ส่วนทักษะการ “ฟัง พูด อ่าน เขียนและจดจำ” เป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กต้องใช้ในการเรียนเพื่อให้ “รู้ความ”อยู่แล้ว แต่ลำพังการอ่านออกเขียนได้ พูดได้ ฟังได้ และจำได้ พ่อแม่อุ่นใจได้หรือยังว่าลูกได้รับการศึกษาแล้ว 

ที่ว่า “ฟังความรู้มา อ่านความรู้มา และจำความรู้ได้”นั้น รู้จักใช้ “วิจารณญาณ” ในการฟัง การอ่าน และการจดจำด้วยไหม หรือฟังมา อ่านมา และจำมาแล้วก็เชื่อและยึดเป็นสรณะเลย การสอนให้เด็กมี “วิจารณญาณ” รู้จัก"ตรวจสอบความรู้” นี้สำคัญกว่าตัว “ข้อความ” ที่รู้มาเสียอีก 

ทีนี้จะสอนอย่างไรให้เด็กมีวิจารณญาณ “ญาณ” ตัวนี้ต้องใช้ “การหยั่ง” เข้าไปสร้างสมดุลกับ “การวัด” เมื่อใดที่สามารถพิจารณาความรู้ด้วยเครื่องมือวัดและญาณหยั่งรู้อย่างสมดุลแยบคาบ “วิจารณญาณ” จึงจะเกิด การศึกษาที่ละเลยมิติทางจิตวิญญาณ ย่อมละเลยเรื่อง “ญาณหยั่งรู้” และแน่นอน “วิจารณญาณ” ที่เป็นไปอย่างมี “สัมมาทิฐิ” ย่อมไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ 

มาที่เรื่อง “รู้รอบ และรู้โลก” เรามักอยากให้เด็กของเรามีความรู้รอบตัวมาก ๆ และรู้ทันโลก หลายครอบครัวพยายามหาสื่อความรู้เกี่ยวกับโลกมาให้ลูกได้อ่านได้ดู ผู้ผลิตสื่อการศึกษาก็ผลิตสื่อความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวรอบโลกและนอกโลกมากมาย จนเด็กทุกวันนี้น่าจะมีความรู้รอบตัวมากกว่าผู้ใหญ่มากมายทีเดียว แต่คำว่า “รอบ” และ “โลก” ที่เรากล่าวถึงในมิติของความรู้นี้คืออะไร 

คำว่า “รู้รอบ” หมายความเพียงแค่ความรู้รอบตัวที่เป็นเรื่องราวทางกายภาพเท่านั้นหรือเปล่า หมายความเพียงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือรู้ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ เท่านั้นเพียงพอไหม “รอบ” ในที่นี้คือ รอบอะไร “รอบที่อยู่ไกล” หรือรวม “รอบที่อยู่ใกล้” ด้วย
เด็กของเราเรียนรู้เรื่องรอบตัวที่อยู่ไกลตัวได้สมดุลกับการเรียนรู้เรื่องรอบใกล้ตัวไหม เมื่อถามว่าปู่ย่าของเราคือใคร มาจากไหน เด็กของเรารู้ไหม เรามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อใด ทำไมจึงมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ เด็กของเรารู้ไหม พืชรอบบ้านเรานี้มีพืชอะไรที่กินได้บ้าง มีหญ้าอะไรเป็นยาสมุนไพรบ้าง เด็กของเรารู้ไหม มดขนไข่ย้ายรังเป็นสัญญาณเตือนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในธรรมชาติ เด็กของเรารู้ไหม การซื้อของมากทำให้เกิดขยะมาก และปัญหาขยะกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา เด็กของเรารู้ใหม หากเด็กของเรารู้ว่าประเทศอเมริกามีรัฐทั้งหมดกี่รัฐ แต่ไม่รู้ว่าต้นไม่รอบบ้านตัวเองมีกี่ชนิดที่กินได้บ้าง “ความรู้รอบ” เช่นนี้เป็นความรู้รอบที่มีประโยชน์ไหม ถ้ามีประโยชน์ เป็นความรู้ที่ยังประโยชน์แก่ใครกันแน่ 

แล้วที่ว่า “รู้โลก” เล่า หมายถึงการตามโลกให้ทันเท่านั้นหรือเปล่า “โลก” ที่เราพูดว่าต้อง “ตามให้ทัน” คืออะไร อยู่ตรงไหน ที่เราพูดกันมากว่าต้องสอนลูกให้ “ทันโลก” ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาไม่ต้องอ้อมค้อม หมายถึง “ตามให้ทันโลกตะวันตก” ใช่หรือไม่ โลกใบนี้มีความหมายเพียงเท่านั้นที่จะให้เรา “ตามให้ทัน” จริง ๆ หรือ แล้วเราจะ“ตามได้ทัน”จริงไหม 

ขณะที่เราลืมตา เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราเรียกว่า “โลกภายนอก” แล้วยามเมื่อเราหลับตาเล่า โลกที่เราเห็นข้างในจะเรียกว่าโลกอะไร เรียกว่า “โลกภายใน” ได้ไหม การศึกษาที่สังคมและระบบหลักพยายามจัดให้เด็ก ๆ ซึ่งเน้นเพียงการศึกษาเรื่องราวของ “โลกภายนอก” เท่านั้นเพียงพอไหม การก้าวให้ทัน “โลกภายนอก” อย่างเร่งทุกฝีเท้าทำให้เราละเลยการศึกษา “โลกภายใน” ไปหรือเปล่า “โลกภายใน” คืออะไร เป็นนามธรรมไปไหม อธิบายได้อย่างไร เชื่อถือได้จริงหรือ วัดประเมินมาตรฐานได้ไหม และที่สำคัญการศึกษา “โลกภายใน” นี้ใช้ทำมาหากิน ทำมาหาเงิน ได้หรือไม่ “?” 

ผู้เขียนขอจบบทความโดยไม่ตอบคำถามนี้ เพราะคำตอบมีอยู่แล้วในทุกคน เมื่อใดที่ใครออกเดินทางท่องโลกภายใน เขาก็ย่อมพบคำตอบของตัวเอง แต่สิ่งที่ผู้เขียนเชื่อและยืนยันคือ “การศึกษาทางเลือก” อันเป็น “ทางรอด” ต้องกล้าตอบคำถามเรื่อง “โลกภายใน” และผู้เขียนยังขอยืนยันว่าเด็กที่ได้รับ “ความรู้ธรรมดาอันเป็นฐานชีวิต” จาก “บุพพาจารย์” ที่ “บ้าน” จะตอบคำถามนี้ได้
............................